วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเมืองการปกครองของอินเดียปัจจุบัน


การเมืองการปกครองของอินเดียปัจจุบัน
การปกครองของอินเดียเป็นระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา แยกศาสนาออกจากการเมือง แบ่งอำนาจการปกครองเป็นสาธารณรัฐ (Secular Democratic Republic with a parliamentary system) แบ่งเป็น ๒๘ รัฐ และดินแดนสหภาพ (Union Territories) อีก ๗ เขต การปกครองของอินเดียมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และประมุขของฝ่ายบริหารตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการบริหารที่แท้จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายประนาบ มุกเคอร์จี (Pranab Mukherjee) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ ๑๓ ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายมานโมฮัน ซิงห์ (Manmohan Singh) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ (เป็นสมัยที่ ๒)
อินเดียมีความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากรกว่า ๑.๒๒ พันล้านคน โดยมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๑ ถึง ๗๐๐ ล้านคน ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการเมืองการปกครองของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน

การปกครองของส่วนกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา (Parliament) อินเดีย เป็นระบบสภาคู่ (Bicameral) ประกอบด้วย
ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ราชยสภามีสมาชิก ไม่เกิน ๒๕๐ คน ปัจจุบันมีสมาชิก ๒๔๕ คน โดย ๑๒ คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทุกๆ ๒ ปี และอีก ๒๓๓ คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (Legislative Assembly) หรือวิธานสภา เป็นผู้เลือก ถือเป็นผู้แทนของรัฐและดินแดนสหภาพ สมาชิกราชยสภามีวาระการทำงาน ๖ ปี โดยทุกสองปีจะมีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกราชยสภาจำนวน ๑ ใน ๓ ใหม่
รองประธานาธิบดีอินเดียเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง ปัจจุบัน คือนาย Mohammad Hamid Ansari
โลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร โลกสภามีสมาชิกได้ไม่เกิน ๕๕๐ คน โดย ๕๔๓ คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (๕๓๐ คน มาจากแต่ละรัฐ ๑๓ คน มาจากดินแดนสหภาพ) และอีกไม่เกิน ๒ คน มาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดีจากชุมชนชาวผิวขาว (Anglo-Community) ในประเทศ สมาชิกโลกสภามีวาระคราวละ ๕ ปี เว้นเสียแต่จะมีการยุบสภา สมาชิกโลกสภามีวาระการทำงาน ๕ ปี
ปัจจุบัน นาง Meira Kumar จากพรรคคองเกรส ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานผู้หญิงคนแรก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒
การตรากฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา
ระบบการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกราชยสภามีทั้งแบบมีผู้แทนได้หลายคนและแบบที่เขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้คนเดียว เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐและดินแดนสหภาพ โดยใช้หลักการตัวแทนตามสัดส่วน หรือคะแนนสูงสุดหนึ่งเดียวแล้วแต่กรณี
อินเดียมีการเลือกตั้งสมาชิกโลกสภาครั้งแรก ภายหลังได้รับเอกราช เมื่อปี ๒๔๙๕ และมีการประชุมโลกสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๙๕ การเลือกตั้งสมาชิกโลกสภาเป็นการเลือกตั้งทางตรงโดยใช้เกณฑ์เสียงข้างมากปกติ มีการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด ๕๔๓ เขต โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานด้วยความเป็นกลาง และสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ การเลือกตั้งสมาชิกโลกสภาครั้งล่าสุด คือเดือนเม.ย.-พ.ค. ๒๕๕๑ ซึ่งถือเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 60 และมีวิธีจัดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้ทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีรูปถ่ายประกอบ ทั่วทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ใน ๕๒๒ เขตเลือกตั้ง (จากทั้งหมด ๕๔๓ เขต โดยยกเว้นบางเขตในรัฐอัสสัม นาคาแลนด์ ชัมมูร์และแคชเมียร์) เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตในการปลอมแปลงบุคคลที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง นอกจากนั้น มีการใช้เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ (electronic voting machine) ทั่วประเทศ จำนวน ๑.๑ ล้านเครื่อง ทำให้สามารถทราบผลการเลือกตั้งทั่วประเทศได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง และใช้กำลังเจ้าหน้าที่พลเรือนทั้งหมด ๔ ล้านคน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ๒.๑ ล้านคน เพื่อดูแลรักษาความเรียบร้อยในการเลือกตั้ง
วาระการประชุมโลกสภา แบ่งเป็น 1) การประชุมพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ (Budget Session) ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2) การประชุมวาระฤดูฝน (Moonsoon Session) ระหว่างเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 3) การประชุมวาระฤดูหนาว (Winter Session) ระหว่างเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม
อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย กำกับดูแลการบริหารประเทศของฝ่ายบริหาร ผ่านร่างงบประมาณ อภิปรายประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ หรือมีผลกระทบต่อประชาชน อาทิ แผนการพัฒนา นโยบายแห่งชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อำนาจหน้าที่ที่แตกต่างระหว่างโลกสภาและราชยสภา คือ โลกสภากำกับดูแลการบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและงบประมาณ ในขณะที่ราชยสภาไม่มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเงิน แต่มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายอื่นๆ
โลกสภาและราชยสภามีคณะกรรมาธิการต่างๆ อยู่ภายใต้ โดยแบ่งคณะกรรมาธิการเป็นสองประเภท คือ Standing Committee และ ad hoc Committee คณะกรรมาธิการที่ถือว่ามีความสำคัญ คือ
Committee on Public Accounts มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้เป็นไปตามข้อตกลงของรัฐสภา (เป็นคณะกรรมาธิการของราชยสภา)
Committee on Public Undertakings มีหน้าที่ตรวจสอบรายงานของผู้ตรวจงบประมาณแผ่นดิน (เป็นคณะกรรมาธิการของราชยสภา)
Committee on Estimates มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล (เป็นคณะกรรมาธิการของโลกสภา)
อนึ่ง ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจเรียกประชุมสภา เลื่อนการประชุม กล่าวอภิปรายต่อสภา ยุบโลกสภา และประกาศกฎหมายได้ทุกเวลา ยกเว้นในระหว่างสมัยการประชุมของรัฐสภา และตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสามารถเป็นสมาชิกของโลกสภาหรือราชยสภาก็ได้
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร (Head of Executives of the Union) ซึ่งประกอบด้วยรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล (Council of Ministers) ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้งสองสภา รวมทั้งสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวาระที่สองได้ คุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ คือ ต้องมีสัญชาติอินเดีย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และเป็นสมาชิกโลกสภา
รองประธานาธิบดี ได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้งสองสภา ดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี และเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง
นาย Hamid Ansari รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีต่ออีกหนึ่งสมัย เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ และทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕
นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารอย่างแท้จริง ดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี โดยการเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย รัฐมนตรี (Ministers) รัฐมนตรีที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (Ministers of State - Independent Charge) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (Ministers of State) คณะรัฐมนตรีรายงานโดยตรงต่อโลกสภา
รัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบัน มีรัฐมนตรีว่าการ (Cabinet Ministers) ๓๓ คน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (Ministers of State with Independent Charge) ๗ คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (Ministers of State) ๓๘ คน รวม ๗๘ คน
ฝ่ายตุลาการ
อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา มีจำนวนไม่เกิน ๒๕ คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ในระดับรัฐ มีศาลสูง (High Court) ของตนเองเป็นศาลสูงสุดของแต่ละรัฐ รองลงมาเป็นศาลย่อย (Subordinate Courts) ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ อย่างไรก็ตาม อำนาจตุลาการของรัฐอยู่ภายใต้ศาลฎีกาซึ่งมีอำนาจสูงสุด

การปกครองระดับรัฐ
รัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน รัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมลรัฐ
โครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละมลรัฐ ประกอบด้วย
ผู้ว่าการรัฐ (Governor) เป็นประมุขของรัฐ ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี (ตามข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล) มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งถอดถอนมุขมนตรีและคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ แต่งตั้งอัยการประจำรัฐ เรียกประชุมและยุบสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ให้ความเห็นชอบและยับยั้งร่างกฎหมายของรัฐ มีอำนาจลดโทษและให้อภัยโทษ
รัฐบาลแห่งรัฐ (State Government) ประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้าและเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารภายในรัฐ และคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (State Ministers) ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งรัฐจะมาจากพรรคการเมืองที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งภายในรัฐ หรือได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
สภานิติบัญญัติแห่งรัฐในรัฐพิหาร จัมมูร์แคชเมียร์ กรณาฏกะ มหาราษฏระ และอุตรประเทศ มีสองสภา คือ Legislative Council และ Legislative Assembly ในรัฐอื่นๆ ที่เหลือ มีเพียงสภาเดียว คือ Legislative Assembly
Legislative Council (ทำหน้าที่คล้ายราชยสภา) ) มีสมาชิกไม่มากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิก Legislative Assembly และไม่น้อยกว่า ๔๐ คน สมาชิกหนึ่งในสามได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิก Legislative Assembly หนึ่งในสามมาจากผู้ดำรงตำแหน่งในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หนึ่งในสิบสองเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสถานศึกษาของรัฐ ที่เหลือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐ
Legislative Assembly(ทำหน้าที่คล้ายโลกสภา) ) มีสมาชิกได้ไม่เกิน ๕๐๐ คน และไม่น้อยกว่า ๖๐ คน ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนตามการแบ่งเขตการเลือกตั้ง


อาคารรัฐสภาอินเดีย
ตึกอาคารรัฐสภาอินเดีย ถือเป็นสถานที่สำคัญของกรุงนิวเดลี ออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียง คือ Sir Edwin Lutyens และ Sir Herbert Baker ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและวางผังเมืองกรุงนิวเดลี
มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๔ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๖ ปี และมีพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๗๐
ส่วนสำคัญของอาคารรัฐสภา คือ อาคารสภาผู้แทนราษฎร อาคารวุฒิสภา พิพิธภัณฑ์รัฐสภา และหอประชุมกลาง (Central Hall)

Central Hall
อาคารหอประชุมกลางเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่อังกฤษถ่ายโอนอำนาจให้แก่อินเดีย เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๙๐ และมีการนำรัฐธรรมนูญของอินเดียใส่กรอบประดับผนังห้องของอาคารแห่งนี้
ปัจจุบัน อาคารหอประชุมกลางใช้เป็นที่ประชุมสภาร่วม การประชุมครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป และการเปิดประชุมสมัยแรกของทุกปี จะกระทำที่อาคารนี้ โดยประธานาธิบดีจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาทั้งสอง

4 ความคิดเห็น: