วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อารยธรรมอินเดีย


อารยธรรมอินเดีย
      อินเดียเป็นต้นสายธารทางวัฒนธรรมของชาติตะวันออก ( ชนชาติในทวีปเอเชีย ) หลายชาติ เป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก บางทีเรียกว่า “แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ” ( Indus Civilization ) อาจแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของอินเดียได้ดังนี้
      1.  สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะของอินเดียเริ่มเมื่อผู้คนรู้จักใช้ทองแดงและสำริด เมื่อประมาณ 2,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช และรู้จักใช้เหล็กในเวลาต่อมา พบหลักฐานเป็นซากเมืองโบราณ 2 แห่ง ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ คือ
          (1) เมืองโมเฮนโจ ดาโร ( Mohenjo Daro ) ทางตอนใต้ของประเทศปากีสถาน
เมืองโมเฮนโจ ดาโร
 เมืองโมเฮนโจ ดาโร ภาพจากเว็บไซต์  archaeologyonline 
    
       (2) เมืองฮารับปา ( Harappa ) ในแคว้นปันจาป ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน
เมืองฮารับปา
 เมืองฮารับปา ภาพจากเว็บไซต์ thenagain  

       2.  สมัยประวัติศาสตร์ อินเดียเข้าสู่ “สมัยประวัติศาสตร์” เมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ประมาณ 700 ปี ก่อนคริสต์ศักราช โดยชนเผ่าอินโด – อารยัน ( Indo – Aryan ) ซึ่งตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำคงคา
สมัยประวัติศาสตร์ของอินเดียแบ่งเป็น 3 ยุค ดังนี้
จารึกอักษร บรามิ ลิปิ
 อักษร บรามิ ลิปิ
ภาพจากเว็บไซต์ citizendia 


      (1) ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เริ่มตั้งแต่การถือกำเนิดตัวอักษรอินเดียโบราณ ที่เรียกว่า “บรามิ ลิปิ” ( Brahmi lipi ) เมื่อประมาณ 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช และสิ้นสุดในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์คุปตะ ( Gupta ) เป็นยุคสมัยที่ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพระพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
      (2) ประวัติศาสตร์สมัยกลาง เริ่มตั้งแต่เมื่อราชวงศ์คุปะสิ้นสุดลง ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อกษัตริย์มุสลิมสถาปนาราชวงศ์โมกุล ( Mughul ) และเข้าปกครองอินเดีย
      (3) ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ต้นราชวงศ์โมกุล ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงการได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1947

อารยธรรมอินเดีย
     อารยธรรมอินเดียมีความเจริญรุ่งเรืองและมีอายุเก่าแก่ไม่แพ้อารยธรรมแหล่งอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
       1.  สมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ( ประมาณ 2,500-1,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ) ถือว่าเป็นสมัยอารยธรรม “กึ่งก่อนประวัติศาสตร์” เพราะมีการค้นพบหลักฐานจารึกเป็นตัวอักษรโบราณแล้วแต่ยังไม่มีผู้ใดอ่านออก และไม่แน่ใจว่าเป็นตัวอักษรหรือภาษาเขียนจริงหรือไม่ ศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองโมเฮนโจ – ดาโร และเมืองฮารัปปา ริมฝั่งแม่น้ำสินธุประเทศปากีสถานในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าเป็นอารยธรรมของชนพื้นเมืองเดิม ที่เรียกว่า “ทราวิฑ” หรือพวกดราวิเดียน ( Dravidian )
       2.  สมัยพระเวท ( ประมาณ 1,500-600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) เป็นอารยธรรมของชนเผ่าอินโด-อารยัน ( Indo-Aryan ) ซึ่งอพยพมาจากเอเชียกลาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุและคงคาโดยขับไล่ชนพื้นเมืองทราวิฑให้ถอยร่นลงไปทางตอนใต้ของอินเดีย สมัยพระเวทแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ หลักฐานที่ทำให้ทราบเรื่องราวของยุคสมัยนี้ คือ “คัมภีร์พระเวท” ซึ่งเป็นบทสวดของพวกพราหมณ์ นอกจากนี้ยังมีบทประพันธ์มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่อีก 2 เรื่อง คือ มหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ บางทีจึงเรียกว่าเป็นยุคมหากาพย์
       3.  สมัยพุทธกาล หรือสมัยก่อนราชวงศ์เมารยะ ( Maurya ) ประมาณ 600-300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) เป็นช่วงที่อินเดียถือกำเนิดศาสนาที่สำคัญ 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธและศาสนาเชน
       4.  สมัยจักรวรรดิเมารยะ ( Maurya ) ประมาณ 321-184 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าจันทรคุปต์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เมารยะได้รวบรวมแว่นแคว้นในดินแดนชมพูทวีปให้เป็นปึกแผ่นภายใต้จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกของอินเดีย
หัวสิงห์พระเจ้าอโศก
 หัวสิงห์พระเจ้าอโศก
ภาพจากเว็บไซต์ วิกิพิเดียสารนุกรมเสรี  


       สมัยราชวงศ์เมารยะ พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์ให้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ( Asoka ) ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนทั้งใกล้และไกล รวมทั้งดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเผยแพร่เข้าสู่แผ่นดินไทยในยุคสมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวารวดี
        5.  สมัยราชวงศ์กุษาณะ ( ประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ.320 ) พวกกุษาณะ (Kushana ) เป็นชนต่างชาติที่เข้ามารุกรานและตั้งอาณาจักรปกครองอินเดียทางตอนเหนือ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้ากนิษกะ รัชสมัยของพระองค์อินเดียมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์
นอกจากนั้น ยังทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ( นิกายมหายาน ) ให้เจริญรุ่งเรือง โดยจัดส่งสมณทูตไปเผยแพร่พระศาสนายังจีนและทิเบต มีการสร้างพระพุทธรูปที่มีศิลปะงดงาม และสร้างเจดีย์ใหญ่ที่เมืองเปชะวาร์
        6.  สมัยจักรวรรดิคุปตะ ( Gupta ) ประมาณ ค.ศ.320-550 พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 ต้นราชวงศ์คุปตะได้ทรงรวบรวมอินเดียให้เป็นจักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของอินเดีย มีความเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ปรัชญาและศาสนา ตลอดจนการค้าขายกับต่างประเทศ
        7.  สมัยหลังราชวงศ์คุปตะ หรือยุคกลางของอินเดีย ( ค.ศ.550 – 1206 ) เป็นยุคที่จักรวรรดิแตกแยกเป็นแคว้นหรืออาณาจักรจำนวนมาก ต่างมีราชวงศ์แยกปกครองกันเอง
        8.  สมัยสุลต่านแห่งเดลฮี หรืออาณาจักรเดลฮี ( ค.ศ. 1206-1526 ) เป็นยุคที่พวกมุสลิมเข้ามาปกครองอินเดีย มีสุลต่านเป็นผู้ปกครองที่เมืองเดลฮี
        9.  สมัยจักรวรรดิโมกุล ( Mughul ) ประมาณ ค.ศ. 1526 – 1858 พระเจ้าบาบูร์ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์โมกุลได้รวบรวมอินเดียให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง ได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิอิสลามและเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอินเดีย โดยอินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1858 กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลที่ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้าอักบาร์มหาราช ( Akbar ) ทรงทะนุบำรุงอินเดียให้มีความเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน และในสมัยของชาห์ เจฮัน ( Shah Jahan ) ทรงสร้าง “ทัชมาฮัล” ( Taj Mahal ) ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความรัก เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะอินเดียและเปอร์เซียที่มีความงดงามยิ่ง
ทัชมาฮาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น