วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์อินเดีย




    ประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ชาวดราวิเดียน (Dravidian) และชาวอารยัน (Aryan) เริ่มกำเนิดอารยธรรมต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำสินธุ ต่อมาในสมัยอาณาจักรเมารยะ (ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งมีดินแดนในตอนเหนือตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำสินธุจรดอ่าวเบงกอล พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างความรุ่งเรืองในการปกครอง ตลอดจนการสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนา ในสมัยราชวงศ์โมกุล (คริสต์ศตวรรษที่ 16 – 18) เป็นสมัยที่มีการแพร่ขยายอิทธิพล วัฒนธรรมโมกุลอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการปกครอง ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม และศาสนาอิสลาม อังกฤษเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในอนุทวีป ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อค้าขายพร้อม ๆ กับครอบครองดินแดนและแทรกแซงในการเมืองท้องถิ่น จนกระทั่งอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2420 (ค.ศ. 1877) โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดินีแห่งอินเดีย หลังจากการรณรงค์ต่อต้านการปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลานาน อินเดียจึงได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) และได้รับการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐอินเดียในปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950)

ประวัติศาสตร์อินเดียเริ่มต้นเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล  หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแคว้นปัญจาบและแคว้นคุชราตของอินเดียบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของสังคมเมืองและอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในยุคสมัยนั้น  ในศตวรรษที่ 6  ก่อนคริสตศักราช ชนเผ่าอินโด-อารยันที่ปกครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น ได้ตั้งอาณาจักรที่ปกครองโดยกษัตริย์นักรบขึ้นเป็นผู้ปกครองดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา (Gangaplain) มีชนเผ่าต่างๆ เป็นบริวารอยู่รอบๆ ต่อมามีการต่อต้านความมีอำนาจของพวกพราหมณ์ทีมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย ส่วนใหญ่พวกที่ไม่เห็นด้วยต่างพากันแสวงหาศาสดาใหม่ เป็นบ่อเกิดของศาสนาใหม่ๆ  ความเชื่อใหม่ๆ ขึ้นในเวลานั้นเองจึงเกิดศาสนาสำคัญขึ้น 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ (Buddhism) กับศาสนาเชน (Jainism) ในขณะที่ศาสนาฮินดูรุ่งเรืองและมีอิทธิพลอย่างมากอยู่ในอินเดีย พวกมคธ (Magodh) มีอำนาจปกครองอยู่ในแถบที่ราบตอนเหนือ พระเจ้าจันทรคุปต์แห่งราชวงค์โมริยะ (Chandragupta Maurya) เป็นกษัตริย์องค์สำคัญในประวัติศาสตร์ของอินเดีย พระเจ้าจันทรคุปต์ทรงตั้งเมืองปาฏะลีบุตร (Pataliputra) เป็นเมืองหลวงของอินเดียซึ่งกล่าวกันว่า เมืองปาฏะลีบุตรเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานั้น ต่อมาพระเจ้าจันทรคุปต์หันไปนับถือศาสนาเชนและบำเพ็ญทุกขรกิริยาด้วยการอดอาหารตามความเชื่อของศาสนาเชนจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ราชวงค์โมริยะเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้แผ่อิทธิพลและขยายอาณาจักรอินเดียออกไปไกล จนทิศเหนือจรดแคว้นแคว้นกัศมีร์หรือแคชเมียร์  (Kashmir) และทางด้านทิศใต้จรดไมเซอร์ (Mysore) และทางด้านทิศตะวันออกจรดโอริสสา (Orissa) 

เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงใช้วิธีปราบปรามผู้ต่อต้านพระองค์อย่างโหดเหี้ยม ทรงขยายอาณาจักรด้วยกองทัพที่เกรียงไกร เข่นฆ่าผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง แต่ภายหลังเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพุทธศาสนา ทรงเปลี่ยนวิธีการขยายอาณาจักรด้วยกองทัพธรรม เผยแพร่ศาสนาพุทธโดยส่งสมณทูตไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเอเซีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น